“ทำปริญญานิพนธ์อย่างไรให้ได้รางวัล”

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ได้รับประกาศจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า ศิษย์เก่าของสถาบันฯ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประเภทวิทยานิพนธ์ “ระดับดี” ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 3 คน นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปีเลยทีเดียว

หากย้อนกลับไปนับจำนวนบัณฑิตของสาขาวิชาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ ที่ได้รับรางวัลงานวิจัยตั้งแต่ระดับชมเชยถึงระดับดีเด่น พบว่ามีกว่า 30 คน รางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าวเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของการผลิตนักวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ให้อยู่ในระดับแถวหน้าของวงวิชาการ

จากข่าวดีนี้ทำให้ผู้เขียนมาคิดทบทวนว่า ปริญญานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลมีจุดเด่นตรงไหน ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับที่ผู้เขียนได้รับคำตอบตอนที่มีโอกาสทำวิจัยเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนานักวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ จึงอยากหยิบยกข้อค้นพบหนึ่งมาเล่าให้ฟัง เผื่อจะเป็นแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่นิสิตที่กำลังเขียนเค้าโครงปริญญานิพนธ. เรื่องมีอยู่ว่า ผู้ให้ข้อมูลในงานนี้สะท้อนจุดเด่นของผลงานตนเอง ใน 4 ประเด็น คือ 1. ประเด็นที่ศึกษาน่าสนใจ 2. ทบทวนเอกสารอย่างเป็นระบบ 3. ออกแบบการวิจัยได้เข้มงวด และ 4. มีประโยชน์ในเชิงการนำไปใช้ กล่าวคือ ประการแรก หัวข้อหรือประเด็นที่ศึกษาต้องน่าสนใจ ซึ่งนักวิจัยต้องแสดงให้เห็นว่างานของตนเองมีความคิดริเริ่มทันสมัย และแตกต่างจากงานที่ผ่านมาอย่างไร ประการต่อมา ต้องทบทวนเอกสารอย่างเป็นระบบ มีเคล็ดลับว่าต้องคัดเลือกเอกสารงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ ประมวลและทบทวนเอกสารทั้งแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยได้ครอบคลุมและชัดเจน เขียนในเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ศึกษาจนนำไปสู่ช่องว่างของความรู้ ประการถัดมา ออกแบบการวิจัยได้เข้มงวด เช่น สร้างกรอบแนวคิดการวิจัยที่ชัดเจน กำหนดตัวแปรโดยมีแนวคิดทฤษฎีรองรับ และตั้งสมมติฐานที่มาจากหลักฐานงานวิจัย และประการสุดท้ายคือ เมื่อทำวิจัยแล้วต้องเกิดประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเป้าหมาย

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนขอสรุปเป็นข้อคิดสั้นๆ ว่า รางวัลแห่งความสำเร็จไม่ใช่เรื่องยาก หากมีการวางแผนการทำงานที่ดี

นริสรา พึ่งโพธิ์สภ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสถาบัน

22 ธันวาคม 2563

by Admin

Share

Related Posts