โดย ปวิณณ์ ภูธนพัฒน์เมธา

นิสิตระดับปริญญาโท สาขาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว


ปริญญานิพนธ์เรื่อง เส้นทางชีวิตและบทบาทการเป็นอาสาสมัครแบบเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อผู้ใช้ยาเสพติด การศึกษารายกรณีด้วยวิธีประวัติชีวิต

Life Path and Role of Peer Outreach Worker for People Who Use Drug: Case Study with Life History ปีการศึกษา 2564


อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐาศุกร์ จันประเสริฐ

การวิจัยนี้นี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทำความเข้าใจเส้นทางชีวิตของอาสาสมัครแบบเพื่อนช่วยเพื่อนจากการเป็นผู้ใช้ยาเสพติดสู่การเป็นผู้ให้บริการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และทำความเข้าใจความหมายและบริบทการทำงานในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน และปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จของการทำงานอาสาสมัครแบบเพื่อนช่วยเพื่อน

โดยงานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบกรณีศึกษา (Case Study) ด้วยวิธีประวัติชีวิต (Life History) มีผู้ให้ข้อมูลหลัก คืออาสาสมัครแบบเพื่อนช่วยเพื่อน 5 คน ที่มีบทบาทในการค้นหาและเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติดในชุมชน เพื่อนำบริการลดอันตรายและบริการสุขภาพอื่น ๆ เข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติด


     

        

               ทำไมคนเราถึงใช้ยาเสพติด

ผลการวิจัยเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตของอาสาสมัครแบบเพื่อนช่วยเพื่อน พบว่าปัญหาครอบครัว เพื่อน สภาพแวดล้อมในชุมชนที่ใกล้ชิดยาเสพติด ความอยากรู้อยากลอง และการรู้ไม่ทันภัยยาเสพติดส่งผลให้ชีวิตหันเหเข้าสู่การเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ปัจจัยด้านรายได้และราคายาเสพติดที่สูงขึ้นส่งผลให้ชีวิตเปลี่ยนสู่การเป็นผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีการฉีดซึ่งนำไปสู่การใช้ยาเสพติดไม่ปลอดภัย การไม่มีอาชีพ นำไปสู่การทำผิดกฎหมายและการเข้าสู่เรือนจำ

      

        

               ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถทำงานเพื่อสังคมได้จริงหรือ

จากการวิจัยยืนยันว่า ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถทำงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมได้อย่างแน่นอน จากจุดเริ่มต้นการเป็นผู้รับบริการและได้รับการชักชวนให้ทำงานอาสาสมัคร ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจเข้าสู่การเป็นอาสาสมัคร คือ การมีอาชีพและมีรายได้ รวมถึงมีความสนใจและต้องการเป็นอาสาสมัครเพื่อให้บริการเพื่อนผู้ใช้ยาเสพติด โดยเงื่อนไขความสำเร็จของการเป็นอาสาสมัครแบบเพื่อช่วยเพื่อน ได้แก่ 1) การได้รับกำลังใจจากเพื่อนร่วมงานและระบบสนับสนุนที่เข้าใจวิถีชีวิตของผู้ใช้ยาเสพติด 2) มีพื้นที่แห่งการยอมรับและให้โอกาส 3) การมองโลกในแง่ดี และ 4) การนำประสบการณ์การเป็นผู้ใช้ยามาปรับใช้ในการให้บริการ  

        

               การทำงานบริการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดคืออะไร

งานวิจัยค้นพบว่า “อาสาสมัครแบบเพื่อนช่วยเพื่อน” มีความสำคัญและมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจระหว่างคนในสังคมกับผู้ใช้ยาเสพติด ว่าความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ยาคืออะไร ดังนั้นบทบาทที่สำคัญของอาสาสมัครคือการค้นหาและเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติดในชุมชน เพื่อนำบริการลดอันตรายและบริการสุขภาพอื่น ๆ เข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดโดยการจัดหาเข็มและกระบอกฉีดยาที่สะอาดให้กับผู้ฉีดสารเสพติด เพื่อลดการใช้เข็มร่วมกัน ป้องกันการติดและแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงชักจูงโน้มน้าวให้ผู้ใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาต่อไป

by krit tarin

Share

Related Posts